รีเลชัน (Relation)หรือจะเรียกอีกอย่างว่า ตาราง (table)หรือในรูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูล (E-R Model) เรียกว่า เอนทิตี (Entity) เป็นการแสดงถึงรูปแบบของตาราง 2 มิติ ที่ประกอบด้วยคอลัมน์และแถวของข้อมูล
แอททริบิวท์ (Attribute) หรือ คอลัมน์ (Column) เป็นการแสดงถึงคุณลักษณะของรีเลชัน อาจจะเรียกว่า เขตข้อมูล เช่น รีเลชัน “สินค้า” ประกอบด้วยคอลัมน์ที่แสดงถึงแอททริบิวท์ต่างๆ ได้แก่ รหัสสินค้า ชื่อสินค้า จำนวนสินค้าคงเหลือ เป็นต้น
ทัพเพิล (tuple)จะเรียกอีกอย่างว่าแถว (Row)หรือเรคอร์ด (record)แถวจะเป็นที่เก็บสมาชิกของรีเลชัน ดังนั้น แถวแต่ละแถวในรีเลชันจะต้องมีคุณสมบัติที่เหมือนกันหมด หรือ มีข้อมูลตามคอลัมน์ที่เป็นคุณลักษณะของรีเลชันเดียวกัน
คาร์ดินอลลิตี้ (Cardinality) คือ จำนวนของทัพเพิลในหนึ่งรีเลชัน หรือ จำนวนแถวในหนึ่งตาราง
ดีกรี (Degree) คือ จำนวนแอททริบิวท์ในหนึ่งรีเลชัน หรือ จำนวนคอลัมน์ในหนึ่งตาราง ยกตัวอย่างข้อมูลพนักงาน เพื่ออธิบายองค์ประกอบของรีเลชัน
โดเมน (Domain) คือ กลุ่มหรือขอบเขตของข้อมูลที่เป็นไปได้ของแต่ละแอททริบิวท์ เช่น โดเมนของแอททริบิวท์กำหนดเพศ ประกอบด้วย เพศหญิง กับ เพศชาย โดเมนของแอททริบิวท์อายุของพนักงานมีขอบเขตระหว่าง 18-60 ปี เป็นต้น
ค่าว่าง (Null Value) ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการกำหนดให้เป็นศูนย์ หรือ ช่องว่างแต่เป็นแอททริบิวท์ที่ยังไม่มีค่าข้อมูลเก็บอยู่ อาจจะยังไม่ทราบค่าข้อมูลที่จะต้องใส่ลงไปในแอททริบิวท์นั้นๆ เมื่อทราบค่าข้อมูลในแอททริบิวท์นั้น อาจมีการกลับมาใส่ข้อมูลลงไปใหม่ได้ ยกเว้นแอททริบิวท์ที่เป็นคีย์หลักที่ไม่สามารถทำให้เป็นค่าว่างได้
คีย์หลัก (Primary Key) คือ แอททริบิวท์ที่สามารถใช้เจาะจงแถวใดแถวหนึ่งในรีเลชัน โดยข้อมูลแต่ละแถวจะไม่ซ้ำซ้อนกัน บางครั้งอาจเรียกสั้น ๆ ว่า คีย์
|