website hits counter

 

***ยินดีต้อนรับเข้าสู่บทเรียนออนไลน์วิชาธรรมาภิบาลเทคโนโลยีสารสนเทศในองค์กร***

 

 

หน่วยที่ 7 จริยธรรมในการใช้คอมพิวเตอร์
สื่อวิดีโอช่วยในการเรียนการสอน

   ความรู้เกี่ยวกับจริยธรรมในการใช้คอมพิวเตอร์
จริยธรรม เป็นการแสดงออกทางการประพฤติปฏิบัติของบุคคล เพื่อแสดงถึงการกระทำที่ถูกต้อง และอยู่ในกรอบของศีลธรรม การประพฤติปฏิบัติเกี่ยวกับสิ่งใดก็ตาม บุคคลจะต้องแสดงออกถึงการมีจริยธรรม เพื่อก่อให้เกิดการกระทำที่ดีและถูกต้อง
จริยธรรมเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต และมีผลต่อการพัฒนาประเทศ ประชากรของประเทศใดก็ตามที่ประพฤติตนอยู่ภายใต้กรอบจริยธรรม ประเทศนั้นย่อมสงบสุข และสามารถพัฒนาไปในทางที่เจริญรุ่งเรืองได้ง่าย
จริยธรรมและความรับผิดชอบในการใช้คอมพิวเตอร์ หมายถึง หลักศีลธรรมจรรยาที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ หรือควบคุมการใช้ระบบคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ เช่น ไม่ใช้คอมพิวเตอร์ทำร้ายผู้อื่นให้เกิดความเสียหายหรือก่อความรำคาญ ได้แก่ การนำภาพหรือข้อมูลส่วนตัวของบุคคลไปลงบนอินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้รับอนุญาตการใช้คอมพิวเตอร์ การขโมยข้อมูลการเข้าถึงข้อมูลหรือคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต การละเมิดลิขสิทธิ์
คุณธรรมจริยธรรมในการใช้คอมพิวเตอร์ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทต่อการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้นซึ่งเราจะพบว่ายิ่งมีประโยชน์เพียงไรเทคโนโลยีสารสนเทศก็อาจเป็นภัยมากเท่ากันหากผู้ใช้ไม่มีความรู้ความรับผิดขอบและนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นในแต่ละประเทศจึงได้มีการกำหนดระเบียบกฎเกณฑ์รวมถึงกฎหมายที่ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อให้เกิดคุณธรรมและจริยธรรมในการในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งมีการกำหนดบัญญัติที่ผู้ใช้เทคโนโลยีควรยึดถือและปฏิบัติตามดังนี้
1. ไม่ใช้คอมพิวเตอร์ทำร้ายหรือละเมิดผู้อื่น
2. ไม่ใช้คอมพิวเตอร์ในการรบกวนการทำงานของผู้อื่น
3. ไม่ใช้คอมพิวเตอร์ในการเข้าถึงข้อมูลหรือคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
4. ไม่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการจารกรรมข้อมูลข่าวสาร
5. ไม่ใช้คอมพิวเตอร์สร้างหลักฐานที่เป็นเท็จ
6. ไม่คัดลอกโปรแกรมผู้อื่นที่มีลิขสิทธิ์ไปใช้งาน
7. ไม่ละเมิดการใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์โดยที่ตนเองไม่มีสิทธิ
8. ไม่นำเอาผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตน
9. คำนึงถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับสังคมอันติดตามมาจากการกระทำ
10. ไม่ใช้คอมพิวเตอร์ก่อความเสียหายหรือความรำคาญแก่ผู้อื่นเช่นการนำภาพหรือข้อมูลส่วนตัวของบุคคลไปลงบนอินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้รับอนุญาต
11. ไม่เผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ควรจะเผยแพร่
12. ใช้คอมพิวเตอร์โดยเคารพกฎระเบียบและกติกามารยาท
เมื่อพิจารณาถึงคุณธรรมจริยธรรมเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และสารสนเทศแล้วยังสามารถแยกเป็นอีก 4 ประเด็นที่รู้จักกันในลักษณะตัวย่อว่า PAPA ซึ่งจะประกอบด้วย
1. ความเป็นส่วนตัว (Information Privacy) หมายถึง ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและสารสนเทศ โดยทั่วไปหมายถึงสิทธิที่จะอยู่ตามลำพังและเป็นสิทธิที่เจ้าของสามารถที่จะควบคุมข้อมูลของตนเองในการเปิดเผยให้กับผู้อื่น ปัจจุบันมีประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดความเป็นส่วนตัวที่เป็นข้อหน้าสังเกตดังนี้
- การเข้าไปดูข้อความในจดหมายอิเล็กทรอนิกส์และการบันทึกข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการบันทึก-แลกเปลี่ยนข้อมูลที่บุคคลเข้าไปใช้บริการเว็บไซต์และกลุ่มข่าวสาร
- การใช้เทคโนโลยีในกาติดตามความเคลื่อนไหวหรือพฤติกรรมของบุคคล เช่น บริษัทใช้คอมพิวเตอร์ในการตรวจจับหรือเฝ้าดูการปฏิบัติงาน/การใช้บริการของพนักงาน
- การใช้ข้อมูลของลูกค้าจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อผลประโยชน์ในการขยายตลาด
- การรวบรวมหมายเลขโทรศัพท์ ที่อยู่อีเมล์ หมายเลขบัตรเครดิต และข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ เพื่อนำไปสร้างฐานข้อมูลประวัติลูกค้าใหม่ขึ้นมาแล้วนำไปขายให้กับบริษัทอื่น
2. ความถูกต้อง (Information Accuracy) ในการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการรวบรวม จัดเก็บ และเรียกใช้ข้อมูลนั้น คุณลักษณะที่สำคัญประการหนึ่งคือความน่าเชื่อถือได้ของข้อมูล ทั้งนี้ ข้อมูลจะมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับความถูกต้องในการบันทึกข้อมูลด้วย ประเด็นด้านจริยธรรมที่เกี่ยวกับความถูกต้องของข้อมูล โดยทั่วไปจะพิจารณาว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความถูกต้องของข้อมูลที่จัดเก็บและเผยแพร่
3. ความเป็นเจ้าของ (Information Property)  ในสังคมของเทคโนโลยีสารสนเทศมักจะกล่าวถึงการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ เมื่อท่านซื้อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีการจดลิขสิทธิ์ นั่นหมายความว่าท่านจ่ายค่าลิขสิทธิ์ในการใช้ซอฟต์แวร์นั้น ซึ่งลิขสิทธิ์ในการใช้จะแตกต่างกันไปในแต่ละสินค้าและบริษัท บางโปรแกรมอนุญาตให้ติดตั้งได้เพียงเครื่องเดียว ในขณะที่บางโปรแกรมอนุญาตให้ใช้ได้หลายเครื่อง ตราบใดที่ท่านยังเป็นบุคคลที่มีสิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ซื้อมา การคัดลอกโปรแกรมให้กับบุคคลอื่น เป็นการกระทำที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อนว่าท่านมีสิทธิในโปรแกรมนั้นในระดับใด
4. การเข้าถึงข้อมูล (Data Accessibility)  คือการป้องกันการเข้าไปดำเนินการกับข้อมูลของผู้ใช้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และเป็นการรักษาความลับของข้อมูล ตัวอย่างสิทธิในการใช้งานระบบเช่น การบันทึก การแก้ไข/ปรับปรุง และการลบ เป็นต้น ดังนั้น ในการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์จึงได้มีการออกแบบระบบรักษาความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้ และการเข้าถึงข้อมูลของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมนั้น ถือว่าเป็นการผิดจริยธรรมเช่นเดียวกับการละเมิดข้อมูลส่วนตัว ในการใช้งานคอมพิวเตอร์และเครือข่ายร่วมกัน หากผู้ใช้ร่วมใจกันปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับของแต่ละหน่วยงานอย่างเคร่งครัดแล้ว การผิดจริยธรรมตามประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นก็คงจะไม่เกิดขึ้น
ผลที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีโดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมจริยธรรม
การใช้งานคอมพิวเตอร์และเครือข่ายร่วมกันให้เป็นระเบียบ หากผู้ใช้ร่วมใจกันปฏิบัติตาม ระเบียบและข้อบังคับของแต่ละหน่วยงานอย่างเคร่งครัดแล้ว การผิดจริยธรรมตามประเด็นดังที่กล่าวมาข้างต้น ก็คงจะไม่เกิดขึ้นแต่ถ้าผู้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศไม่คำนึงถึงคุณธรรมจริยธรรมอาจทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมายเช่น
    1. ทำให้เกิดอาชญากรรม เทคโนโลยีสารสนเทศสามารถนำมาใช้ในการก่อให้เกิดอาชญากรรมได้ โจรผู้ร้ายใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการวางแผนการปล้น วางแผนการโจรกรรม มีการลักลอบใช้ข้อมูลข่าวสาร มีการโจรกรรมหรือแก้ไขตัวเลขบัญชีด้วยคอมพิวเตอร์การลอบเข้าไปแก้ไขข้อมูลอาจทำให้เกิดปัญหาหลาย อย่าง เช่น การแก้ไขระดับคะแนนของนักเรียน การแก้ไขข้อมูลในโรงพยาบาลเพื่อให้การรักษาพยาบาลคนไข้ ผิดซึ่งเป็นการทำร้ายหรือฆาตกรรมดังที่เห็นในภาพยนตร์
    2. ทำให้ความสัมพันธ์ของมนุษย์เสื่อมถอย การใช้คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สื่อสารทำให้ สามารถติดต่อสื่อสารกันได้โดยไม่ต้องเห็นตัว การใช้งานคอมพิวเตอร์หรือแม้แต่การเล่นเกมที่มีลักษณะการใช้ งานเพียงคนเดียว ทำให้ความสัมพันธ์กับผู้อื่นลดน้อยลง ผลกระทบนี้ทำให้มีความเชื่อว่า มนุษย์สัมพันธ์ของ บุคคลจะน้อยลง สังคมใหม่จะเป็นสังคมที่ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยกันมาก
3. ทำให้เกิดความเสี่ยงภัยทางด้านธุรกิจ ธุรกิจในปัจจุบันจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยเทคโนโลยี สารสนเทศมากขึ้น ข้อมูลข่าวสารทั้งหมดของธุรกิจฝากไว้ในศูนย์ข้อมูล เช่น ข้อมูลลูกหนี้การค้า ข้อมูลสินค้า และบริการต่าง ๆ หากเกิดการสูญหายของข้อมูล อันเนื่องมาจากเหตุอุบัติภัย เช่น ไฟไหม้น้ำท่วม หรือด้วย สาเหตุใดก็ตามที่ทำให้ข้อมูลหายย่อมทำให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจโดยตรง
   4. ทำให้การพัฒนาอาวุธมีอำนาจทำลายสูงมากขึ้น ประเทศที่เป็นต้นตำรับของเทคโนโลยี สามารถนำเอาเทคโนโลยีไปใช้ในการสร้างอาวุธที่มีอานุภาพการทำลายสูง ทำให้หมิ่นเหม่ต่อสงครามที่มีการ ทำลายสูงเกิดขึ้น
    5.ทำให้เกิดการแพร่วัฒนธรรมและกระจายข่าวสารที่ไม่เหมาะสมอย่างรวดเร็ว การนำมาใช้ ในทางใดจึงขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าจะมีจริยธรรมการใช้คอมพิวเตอร์เพียงไร เช่น การเผยแพร่ภาพอนาจารหรือภาพ ที่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย   นอกจากนี้ยังมีการปลอมแปลงระบบจดหมาย เพื่อส่ง จดหมายถึงผู้อื่นโดยมีเจตนา กระจายข่าวที่เป็นเท็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องปลูกฝังกันในการศึกษาทุกระดับ

   การปลูกฝังจริยธรรมในการใช้คอมพิวเตอร์กับระบบสารสนเทศและงานอาชีพ
จริยธรรมที่ควรจะปลูกฝังเพื่อให้บุคคลได้ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีงามเมื่อใช้คอมพิวเตอร์กับระบบสารสนเทศและยังนำความสุขความเจริญมาสู่ประเทศชาติมีดังนี้
1. ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ คือการปฏิบัติการงานของตนเองและงานที่ได้รับมอบหมายด้วยความมานะพยายามอุทิศตนจนสุดความสามารถจนงานนั้นประสบความสำเร็จตรงตามเวลาทำให้เกิดผลดีแก่ตนเองและส่วนรวมทั้งนี้ยังรวมไปถึงการรับผิดชอบเมื่องานล้มเหลวโดยการพยายามแก้ปัญหาและอุปสรรคโดยไม่ท้อถอย
2 ความมีระเบียบวินัย หมายถึง การเป็นผู้รู้และปฏิบัติตนตามแบบแผนที่ตนเองครอบครัวและสังคมกำหนดไว้ความมีระเบียบวินัยช่วยให้สังคมเป็นระเบียบเรียบร้อยบ้านเมืองมีความร่มเย็นเป็นสุขและเจริญรุ่งเรือง
3. ความซื่อสัตย์ หมายถึง การปฏิบัติตนทางกายวาจาใจที่ตรงไปตรงมาไม่แสดงความคดโกงไม่หลอกลวงไม่เอาเปรียบผู้อื่นมีความจริงใจต่อกันเป็นที่ไว้วางใจของคนทั่วไปเช่นการที่พนักงานบริษัทใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่บริษัทมาใช้ส่วนตัวหรือการที่เด็กนักเรียนเข้าไปในฐานข้อมูลการตัดเกรดของโรงเรียนแล้วเปลี่ยนเกรดที่ตนเองได้รับเป็นต้น
4. ความเสียสละ หมายถึง การปฏิบัติตนโดยอุทิศกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังปัญญา เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นและสังคมด้วยความตั้งใจจริง มีเจตนาที่บริสุทธิ์ ซึ่งจะทำให้มีคนรักใคร่ เคารพนับถือไว้วางใจเป็นที่ยกย่องในสังคม
5. ความอดทน หมายถึง ความเป็นผู้มีจิตใจเข้มแข็ง ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคต่าง ๆ มุ่งมั่นทำงานให้บังเกิดผลดี โดยไม่ให้ผู้อื่นเดือดร้อน
6. ความมีเมตตา หมายถึง การงดเว้นจากความชั่วร้ายหรือไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น
7. ความสามัคคี หมายถึง การที่ทุกคนมีความพร้อมกาย พร้อมใจ และพร้อมความคิดเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มุ่งหมายที่จะทำงานให้สำเร็จโดยไม่มีการเกี่ยงกัน ตัวอย่างคือ การที่พนักงานขายข้อมูลทางด้านการค้าให้กับบริษัทคู่แข่ง ด้วยความโกรธแค้นทางบริษัทที่ตนเองทำงานอยู่ เป็นต้น  
8. มีความสุภาพ หมายถึง เรียบร้อย อ่อนโยน ละมุนละม่อมมีกิริยามารยาทที่ดีงามมีสัมมาคารวะ ผู้ที่มีความสุภาพ คือผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตนตามสถานภาพและกาลเทศะ ไม่ก้าวร้าว รุนแรง วางอำนาจข่มผู้อื่นทั้งโดยวาจาและท่าทาง แต่ในเวลาเดียวกันยังคงมีความมั่นใจในตนเองเป็นผู้ที่มีมารยาทวางตนเหมาะสมตามวัฒนธรรมไทย
การปลูกฝังจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
ถ้าต้องการให้มนุษย์ในสังคมเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า และรู้จักใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์อย่างถูกวิธีก็ต้องช่วยกันปลูกฝังจริยธรรมให้เกิดขึ้นอย่างถูกวิธี ดังนั้นปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปลูกฝังจริยธรรม ได้แก่
1. ผู้ปกครอง ได้แก่ บิดา มารดา และทุกคนในครอบครัวต้องปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ต้องแสดงความมีจริยธรรมให้ดูเป็นตัวอย่างและเกิดความประทับใจ เป็นคนดีที่สังคมและชาติต้องการพร้อมที่จะให้เด็กประพฤติตาม เพราะเด็กเป็นนักเลียนแบบที่ดี เป็นวัยที่กำลังแสวงหาแบบอย่าง เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกหลานสืบไป
2.  หลักสูตรการศึกษา ทุกระดับชั้นควรบรรจุรายวิชาที่เน้นปลูกฝังจริยธรรม เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติตนตาม ครูจะต้องปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่าง ช่วยแก้ไขปรับปรุงตักเตือน เมื่อเห็นเด็กนักเรียนแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในทางจริยธรรม
3. บุคคลที่มีจริยธรรมควรได้รับการยกย่องสรรเสริญจากสังคม เพื่อเป็นรางวัลแห่งการทำความดี และยังเป็นแรงบันดาลใจ เป็นกำลังใจให้แก่บุคคลที่จะปฏิบัติตนให้มีจริยธรรมเกิดขึ้นกับตนเอง
4. บุคคลที่ประพฤติตัวผิดจริยธรรมสมควรได้รับการลงโทษ เพื่อเป็นตัวอย่างให้บุคคลที่กำลังจะประพฤติผิดหลักของจริยธรรมเกิดความหวาดกลัว แล้วกลับมาทำตามกฎระเบียบของสังคม

    ความสำคัญของจริยธรรมในการใช้คอมพิวเตอร์กับระบบสารสนเทศและงานอาชีพ
การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ หมายถึง กระบวนการต่าง ๆ และระบบงานที่ช่วยให้ได้สารสนเทศหรือข่าวสารที่ต้องการ รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้สำนักงาน อุปกรณ์คมนาคมต่าง ๆ รวมทั้งซอฟต์แวร์ทั้งระบบสำเร็จรูปและพัฒนาขึ้นโดยเฉพาะด้านพร้อมทั้งกระบวนการในการนำอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ มาใช้งาน รวบรวมข้อมูล จัดเก็บประมวลผล และแสดงผลลัพธ์เป็นสารสนเทศในรูปแบบต่าง ๆ ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป
ปัจจุบันการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกองค์กร การเชื่อมโยงสารสนเทศผ่านทางคอมพิวเตอร์ ทำให้สิ่งที่มีค่ามากที่สุดของระบบ คือ ข้อมูลและสารสนเทศอาจ ถูกจารกรรม ถูกปรับเปลี่ยน ถูกเข้าถึงโดยเจ้าของไม่รู้ตัว ถูกปิดกั้นขัดขวางให้ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้หรือถูกทำลายเสียหาย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในโลกของเครือข่าย โดยเฉพาะเมื่อยู่บนอินเทอร์เน็ตดังนั้นการมีคุณธรรมและจริยธรรมในการใช้เทคโนโลยีจึงมีความสำคัญดังนี้
1. ไม่ควรให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ
2. ไม่บิดเบือนความถูกต้องของข้อมูล ให้ผู้รับคนต่อไปได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง
3. ไม่ควรเข้าถึงข้อมูลของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
4. ไม่ควรเปิดเผยข้อมูลกับผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาต
5. ไม่ทำลายข้อมูล
6. ไม่เข้าควบคุมระบบบางส่วนหรือทั้งหมดโดยไม่ได้รับอนุญาต
7. ไม่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจว่าตัวเองเป็นอีกบุคคลหนึ่ง ตัวอย่างเช่น การปลอมอีเมลของผู้ส่งเพื่อให้ผู้รับเข้าใจผิดเพื่อการเข้าใจผิด หรือต้องการล้วงความลับ
8. การขัดขวางการให้บริการของเซิร์ฟเวอร์ โดยทำให้มีการใช้ทรัพยากรของเซิร์ฟเวอร์จนหมดหรือถึงขีดจำกัดของมัน เช่น เว็บเซิร์ฟเวอร์ หรืออีเมลเซิร์ฟเวอร์ การโจมตีจะทำโดยการเปิดการเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์จนถึงขีดจำกัดของเซิร์ฟเวอร์ ทำให้ผู้ใช้คนอื่น ๆไม่สามารถเข้ามาใช้บริการได้
9. ไม่ปล่อย หรือสร้างโปรแกรมประสงค์ร้าย (Malicious Program) เรียกย่อว่า (Malware เป็นโปรแกรมที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำการก่อกวน ทำลาย หรือทำความเสียหายระบบคอมพิวเตอร์เครือข่ายโปรแกรมประสงค์ร้ายที่แพร่หลายในปัจจุบันคือ ไวรัสเวิร์ม และม้าโทรจัน
10. ไม่ก่อความรำคาญให้กับผู้อื่น โดยวิธีการต่าง ๆ เช่น สแปม (Spam) (การส่งอีเมลไปยังผู้ใช้จำนวนมากเพื่อการโฆษณา)
11. ไม่ผลิตหรือใช้สปายแวร์ (Spyware) โดยสปายแวร์จะใช้ช่องทางการเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ตเพื่อแอบส่งข้อมูลส่วนตัวของผู้นั้นไปให้กับบุคคลหรือองค์กรหนึ่งโดยผู้ใช้ไม่ทราบ
12. ไม่สร้างหรือใช้ไวรัสคอมพิวเตอร์ เพื่อก่อกวนผู้อื่น

   องค์กรที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมในการประกอบอาชีพคอมพิวเตอร์
ในช่วงค. ศ. 1960 หลายองค์กรให้ความสนใจเกี่ยวกับการแสดงออกของพฤติกรรมทางจริยธรรมองกลุ่มนักวิชาชีพคอมพิวเตอร์ แต่ช่วงนั้นยังไม่มีการนำกฎหมายคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ องค์กรต่าง ๆ จึงมีการรวมตัวกำหนดแนวทางด้านจริยธรรมขึ้นเพื่อใช้ร่วมกัน ดังนี้
1. DPMA (The Data Processing Management Association) เป็นองค์กรที่จัดการและรับผิดชอบด้านสารสนเทศให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่กำหนดจริยธรรมและมาตรฐานงานในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ด้วย
2. ACM (The Association for Computing Machinery) เป็นสมาคมทางการศึกษาและศาสตร์ทางคอมพิวเตอร์ มีวัตถุประสงค์สนับสนุนความรับผิดชอบในการใช้คอมพิวเตอร์ และพัฒนากระบวนการทางสารสนเทศในฐานะที่เป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง
3. ICCP (The Institute for Certification of Computer Professional) เป็นองค์กรที่สนับสนุนให้ผู้ที่อยู่ในวิชาชีพได้มีโอกาสทดสอบความรู้ และความเป็นนักวิชาชีพ และมีการออกใบประกาศวิชาชีพให้ด้วย
4.CPIS (TheCanadian Information Processing Society) เป็นสมาคมวิชาชีพคอมพิวเตอร์ที่ให้การสนับสนุนความเป็นนักวิชาชีพในกลุ่มของผู้ทำงานระบบสารสนเทศ ผู้ที่จะได้รับใบประกาศวิชาชีพของสมาคมต้องมีคุณสมบัติ และมีประสบการณ์ตามมาตรฐานที่สมาคมกำหนด
5. BCS (The British Computer Society) เป็นสมาคมวิชาชีพสำหรับผู้ทำงานทางด้านคอมพิวเตอร์ เพื่อพัฒนางานทางด้านคอมพิวเตอร์ และการนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ บทบาทสำคัญของสมาคม คือกำหนดมาตรฐานสมรรถนะทางวิชาชีพ และจริยธรรมในการปฏิบัติงานด้านคอมพิวเตอร์
แต่ละสมาคมดังกล่าวข้างต้นมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันออกไป แต่จะมีพื้นฐานเดียวกัน คือ “ หลักจริยธรรม” ที่มุ่งให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทุกคนแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้องและอยู่ในกรอบของศีลธรรม