บทที่ 2 การวิเคราะห์และออกแบบโครงสร้างเว็บไซต์

วิเคราะห์และจัดโครงสร้างข้อมูล
ขั้นตอนนี้จะเป็นการนำข้อมูลต่างๆที่รวบรวมได้จากขั้นแรก ไม่ว่าจะเป็น วัตถุประสงค์ของเว็บไซต์ คุณลักษณะ ข้อจำกัดของกลุ่มผู้ชมเป้าหมาย รวมทั้งเนื้อหาหลักของเว็บไซต์ นำมาประเมิน วิเคราะห์ และจัดระบบ เพื่อให้ได้โครงสร้างข้อมูล และข้อกำหนด ซึ่งจะใช้เป็นกรอบสำหรับการออกแบบและดำเนินการในขั้นต่อๆไป ผลที่ได้รับจากขั้นนี้ควรประกอบไปด้วย
 แผนผังโครงสร้างของเว็บไซต์ ลำดับการนำเสนอ สารบัญ หรือผังงาน
ระบบนำทางหรือเนวิเกชั่น ซึ่งผู้ชมจะใช้สำหรับเปิดเข้าไปยังส่วนต่างๆของเว็บไซต์ ตัวอย่างเช่น 

โครงสร้างและรูปแบบของเมนู
องค์ประกอบต่างๆที่จะนำมาใช้ในเว็บเพจมีอะไรบ้าง เช่น รูปภาพและภาพกราฟิก,เสียง,วีดีโอ,มัลติมีเดีย,แบบฟอร์ม ฯลฯ อะไรบ้างที่บราวเซอร์ของผู้ชมสนับสนุน และอะไรบ้างที่ต้องอาศัยโปรแกรมเสริม
ข้อกำหนดเกี่ยวกับลักษณะหน้าตาและรูปแบบของเว็บเพจ
ข้อกำหนดของโปรแกรมภาษาสคริปต์หรือเว็บแอพพลิเคชั่น และฐานข้อมูลที่ใช้ในเว็บไซต์
คุณสมบัติของเว็บเซิร์ฟเวอร์ รวมถึงข้อจำกัด และบริการเสริมต่างๆที่มีให้

ออกแบบเว็บเพจและเตรียมข้อมูล
เป็นขั้นตอนการออกแบบเค้าโครงหน้าตา และลักษณะด้านกราฟิกของหน้าเว็บเพจ เพื่อให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ความรับรู้ต่อเว็บเพจตามที่เราต้องการ ดังนั้นผู้ที่ทำหน้าที่นี้จึงควรมีความสามารถทางด้านศิลปะพอสมควร โปรแกรมที่เหมาะจะใช้ในการออกแบบคือ Adobe Photoshop หรือ Macromedia Fireworks ซี่งผลที่ได้จะประกอบด้วยไฟล์กราฟิกต่างๆ ที่ใช้บนเว็บเพจ เช่น โลโก้,ภาพพื้นหลัง,ปุ่มเมนู,ไอคอนที่เป็นหัวคอลัมน์ และแบนเนอร์โฆษณา

การออกแบบเว็บเพจยังรวมไปถึงการกำหนดสีสัน และรูปแบบของส่วนประกอบต่างๆที่ไม่ใช่ภาพกราฟิก เช่น ฟอนต์ ขนาด และสีข้อความ สีพื้นบริเวณที่ว่าง สีและลวดลายของเส้นกรอบ เป็นต้น นอกจากนี้องค์ประกอบเสริมอื่นๆของเว็บเพจก็ต้องถูกเตรียมไว้ด้วย เช่น ภาพเคลื่อนไหว Flash และโปรแกรม JavaScript ที่ใช้โต้ตอบกับผู้ชม หรือเล่นเอฟเฟ็คต์ต่างๆ
ในส่วนของเนื้อหา ขั้นตอนนี้จะเป็นการนำเนื้อหาที่เลือกไว้มาปรับแก้ และตรวจทานความถูกต้อง เพื่อให้พร้อมสำหรับจะนำไปใส่เว็บเพจแต่ละหน้าในขั้นตอนถัดไป

ลงมือสร้างและทดสอบ
เป็นขั้นตอนที่เว็บเพจจะถูกสร้างขึ้นมาจริงทีละหน้าๆ โดยอาศัยเค้าโครง และองค์ประกอบกราฟิกตามที่ออกแบบไว้ เนื้อหาต่างๆจะถูกนำมาใส่และจัดรูปแบบ ลิ้งค์และระบบนำทางถูกสร้าง องค์ประกอบเสริมต่างๆถูกวางเข้าที่ อย่างไรก็ตาม เมื่อลงมือสร้างเว็บเพจจริงเราอาจพบว่าสิ่งที่ออกแบบไว้แล้ว บางอย่างไม่เหมาะสม หรือควรได้รับการปรับแต่ง ก็สามารถทำได้ โปรแกรมที่ใช้ในขั้นตอนนี้ก็คือโปรแกรมสำหรับสร้างเว็บไซต์ เช่น Macromedia Dreamweaver  โปรแกรมกลุ่ม CMS ต่าง  ๆ เช่น Joomla  WordPress  เป็นต้น  นอกจากนี้ก็ควรทดสอบโดยใช้สภาพแวดล้อมที่เหมือนกับของกลุ่มผู้ชมเป้าหมาย เช่น เวอร์ชั่นของบราวเซอร์ ความละเอียดของจอภาพและความเร็วที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต เพื่อดูว่าผู้ชมเป้าหมายสามารถชมเว็บไซต์ได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพหรือไม่

เผยแพร่และส่งเสริมให้เป็นที่รู้จัก
โดยทั่วไปการนำเว็บไซต์ขึ้นเผยแพร่บนอินเตอร์เน็ตจะทำด้วยการอัพโหลดไฟล์ทั้งหมด คือ HTML และไฟล์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง ขึ้นไปเก็บบนเซิร์ฟเวอร์ที่เราเปิดบริการไว้ การอัพโหลดเว็บไซต์ หรือบางครั้งเรียกว่า พับลิช” อาจทำด้วยโปรแกรมสร้างเว็บไซต์เอง ซึ่งมีคุณสมบัตินี้ในตัว หรืออาจจะใช้โปรแกรมยูทิลิตี้ประเภท FTP เช่น CuteFTP และ WS_FTP หรือใช้เครื่องมืออื่นบนเว็บเซิร์ฟเวอร์ก็ได้
หลังจากนั้นเว็บไซต์ควรได้รับการทดสอบอีกครั้ง เพื่อตรวจหาปัญหาบางอย่างที่ไม่สามารถทดสอบบนเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราได้ เช่น การลิ้งค์ของเว็บเพจกับเว็บไซต์อื่น และการทำงานของโปรแกรมสคริปต์กับฐานข้อมูล ซึ่งอาจทำไม่ได้บนเครื่องของเรา หรือบนเว็บเซิร์ฟเวอร์อาจมีสภาพแวดล้อมที่ต่างออกไป

เว็บไซต์ที่ประสบความสำเร็จ นอกจากต้องมีเนื้อหาที่ดี มีการวางโครงสร้างและการออกแบบที่เหมาะสมแล้ว ยังต้องได้รับการโฆษณา และส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้ชมเป้าหมายหรือในวงกว้างออกไปอีกด้วย การส่งเสริมนี้มีกลยุทธที่ทำได้หลายวิธี ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเสมอไป โดยสามารถทำได้ตั้งแต่แบบง่ายๆ คือการแลกเปลี่ยนลิ้งค์หรือแบนเนอร์ ประกาศบนเว็บบอร์ดสาธารณะ การส่งอีเมล์ เพิ่มข้อมูลในเสิร์ชเอ็นจิ้น หรือเว็บไดเร็กทอรี่ เรื่อยไปจนถึงแบบที่ต้องใช้งบประมาณมากขึ้น เช่น การจัดงานเปิดตัว การลงโฆษณาบนเว็บไซต์อื่น ในสิ่งพิมพ์ หรือในวิทยุโทรทัศน์ เป็นต้น